จากปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนที่ส่งผลผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต และจำนวนมากกลายเป็นเด็กกำพร้า โครงการ Peace Please มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
ปัญหาและที่มา
เด็กคืออนาคตของชาติ ที่ชายแดนใต้ นับเวลาย้อนไป9 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเด็กและเยาวชน บาดเจ็บ 431 คนและเสียชีวิต 86 คน รวม 510 คน มีเด็กกำพร้ามากกว่า 5,000 คน ไม่นับเด็ก เยาวชน ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อสุขภาพจิต ความมั่นคงในอนาคต เรามักจะพูดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ที่นี่ยังไม่มีกระบวนการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เยาวชน เป็นพื้นที่ ที่ปลอดความรุนแรง เป็นพื้นที่ ที่มีกระบวนการสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และพร้อมประกาศเป็นพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน ปลอดภัย เด็กลูกเหรียง (เด็กที่สูญเสียผู้ปกครอง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฯ) พูดเสมอว่า การเยียวยาโดยการให้เงิน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่การให้เครื่องมือ การสร้างความรู้ให้พวกเขา จะสามารถช่วยให้เขามีชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนมากกว่าเป็นความรู้สึกร่วมของเด็ก เยาวชน ในพื้นที่ทุกคนที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัย ที่จะสามารถสร้างความอุ่นใจ และได้รับการคุ้มครอง ตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่ว่าด้วยการปกป้องคุ้มครอง โครงการนี้ จึงมุ่งเน้น การสร้างโมเดลพื้นที่ปลอดภัย โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดโมเดลพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
ทางแก้ปัญหา
สร้างความรู้เรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดมาตรการการป้องกันในพื้นที่ปลอดภัย โดยเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้นำชุมชน ครู เจ้าหน้าที่ความมั่นคง หน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมมีการเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน และประกาศต่อสาธารณะ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เยาวชน โดยมีคณะทำงานสนับสนุนความรู้ เครื่องมือ เพื่อประเมินผล และส่งเสริมความร่วมมือในอนาคต ใน 8 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนรอบๆโรงเรียนประถมศึกษา 4 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา 4 โรงเรียน
วิธีการทำงาน
- จัดประชุมคณะทำงาน และที่ปรึกษาด้านองค์ความรู้กระบวนการสร้างหลักสูตร และออกแบบพื้นที่ Peace Please เพื่อพัฒนากิจกรรมการมีส่วนร่วมและจัดการความขัดแย้งในเด็กและเยาวชน
- อบรมคณะทำงานประจำโรงเรียนเครือข่าย ประกอบด้วย ครู 2 คน นักเรียนหญิง 2 คน นักเรียนชาย 2 คน ผู้นำชุมชน 1 คน จนท.ความมั่นคงที่รับผิดชอบพื้นที่ละ 1 คน ปลัดประจำตำบล 1 คน ผ่านกระบวนการในหลักสูตร พร้อมคู่มือการจัดการความขัดแย้งในเด็กและเยาวชน โดยทุกคนสามารถปรับ เพิ่มเติมข้อมูลให้สมบูรณ์ เพื่อความเข้าใจในการนำไปใช้ในพื้นที่จริง พร้อมวางแผนการทำงาน
- แต่ละพื้นที่ดำเนินการสร้างเวทีวิเคราะห์ปัญหา แนวทางแก้ไข และพัฒนาข้อตกลงร่วมกัน โดยมีคณะทำงานติดตามสนับสนุน อย่างต่อเนื่อง
- จัดประชุมครู คณะทำงาน เพื่อวัดผล ปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมเพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- ถอดบทเรียน เพื่อนำไปสู่การขยายผลในปีที่ 2
- เวทีสาธารณะนำเสนอโมเดลพื้นที่ปลอดภัย แนวทางการขยายพื้นที่ในอนาคต
สถานะและความสำเร็จในปัจจุบัน
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ดำเนินงานด้านการป้องกัน ซึ่งสามรถพัฒนาความร่วมมือโรงเรียนในเครือข่าย จำนวน 22 โรงเรียน ใน 7 ปี ที่ผ่านมา และสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กและเยาวชน จนจบปริญญาตรี จำนวน 164 คน และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนค่ายเยียวยา งานเยี่ยมบ้าน กว่า 2,912 คน และสร้างแกนนำผ่านค่าย กระบวนการอาสาสมัคร มากกว่า 1,000 คน และห้องสมุด สร้างแหล่งเรียนรู้ คัดหนังสือลงชุมชน กว่า 18 พื้นที่ มีจำนวนหนังสือที่เข้ามาในระบบ มากกว่า 16,000 เล่ม
แหล่งเงินทุนในปัจจุบัน: เงินบริจาคโดยการระดมทุนผ่านเสื้อและสมุด ภาพวาดของเด็ก ๆในการดูแลของสมาคมฯ และรับทุนสนับสนุนจาก สสส. และการดำเนินงานด้านเยาวชนกับธรรมาภิบาล 4 ปี ที่ผ่านมา ผ่านโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย USAID ซึ่งได้หมดสัญญาโครงการเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา
หน่วยงานอ้างอิง: สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย)
เป้าหมายระยะยาวที่โครงการนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
มีมาตรการการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย Peace Please สำหรับเด็ก เยาวชน คนในชุมชน สร้างความร่วมมือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การลดจำนวนการก่อเหตุรุนแรง การบาดเจ็บ การสูญเสียในเด็กและเยาวชน รวมทั้งพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนได้รับการปกป้อง คุ้มครองอย่างแท้จริง
วิธีการวัดและตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
โครงการ Peace Please จะสามารถสร้างคนที่มีความรู้ ความชำนาญ การจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วม ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถนำไปขยายผลยังโรงเรียน ชุมชน พื้นที่อื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ เมื่อคนมีชีวิตอยู่ คนๆนั้นย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพื่อให้สันติภาพได้ค่อยๆผลิบานที่ชายแดนใต้
ทรัพยากรจำเป็นต่อการขยายผลและนำไปใช้
คน : –
เครือข่าย : –
องค์ความรู้ :
องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ การสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ การทำแผนที่ชุมชน การทำข้อตกลงหรือกฏกติการ่วมกันในการปกป้องชุมชน
เงินทุน :
เงินสนับสนุนจำนวน 40,000 บาทต่อเดือน สำหรับการจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม จัดเวทีและติดตามข้อตกลงชุมชน ในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่
และเงินสนับสนุนประมาณ 100,000 บาทต่อพื้นที่ทำงาน สำหรับการขยายพื้นที่ปลอดภัยออกไปอีก 30 พื้นที่ ใน 3 จังหวัด
องค์กรผู้รับผิดชอบโครงการ : สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)